พิษสารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicide)
ประพันธ์ เชิดชูงาม, วทบ, สม, สาขาพิษวิทยาและอาชีวเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม,
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ข้อมูลสารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ คลอโรฟีน็อกซี่อะซีเตท
เช่น ทู,โฟ-ดี (2,4-D), ทู,โฟ,ไฟด์-ที (2,4,5-T), โซเดียมคลอเรท
(sodium chlorate), พาราควอท (paraquat), ไดไนโตร-โอ-คลีซอล
(dinitro-o-cresol), ไดไนโตรฟีนอล (dinitrophenol),
ไดโนเซป (dinoseb) และเพนตะคลอโรฟีนอล
(pentachlorophenol) ประโยชน์ และสาเหตุการเกิดพิษ ลักษณะอาการทางพิษวิทยา
และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น. |
สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่มคลอโรฟีน็อกซี่อะซีเตท
[Chlorophenoxyacetate
Herbicide]
สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่ม Chlorophenoxyacetate บางทีเรียกชื่อสั้น ๆ ว่า Phenoxy
หรือ Chlorophenoxy สารในกลุ่มนี้ได้แก่ 2,4-D, MCPA , mecoprop (MCPP) , dichlorprop
(DCPP) และ 2,4,5-T
ประโยชน์ :
- สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่มคลอโรฟีน็อกซี่ใช้กำจัดวัชพืชใบกว้างในไร่นา ในทุ่งหญ้า
สวนสาธารณะ สวนผลไม้ วัชพืชที่ขึ้นตามขอบสระ ริมคลองชลประทาน เป็นต้น
สาเหตุการเกิดพิษ :
- สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่มคลอโรฟีน็อกซี่ เมื่อถูกสัมผัสบริเวณผิวหนัง จะรู้สึกระคายเคือง
ถ้าเข้าปากจะเจ็บในปาก ปวดแสบปวดร้อนในลำคอ และหลอดอาหาร ทำให้เกิดแผลผุพอง และทำลายกล้ามเนื้อเส้นประสาท
และสมองสารเคมีกำจัดวัชพืชบางชนิดอาจมีส่วนผสมของน้ำมันก๊าดและน้ำมันเบนซิน เมื่อกลืนกินเข้าไปอาจจะทำให้เกิดอาการภาวะปอดบวมน้ำในภายหลังขึ้นได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับพิษมักมีสาเหตุมาจากการกลืนกินสารพิษเข้าไปเป็นจำนวนมาก
และสารพิษมีความเข้มข้นสูง บางรายที่กลืนกินเข้าไปมากก็อาจเสียชีวิตได้ สารเคมีกลุ่มนี้ยังสามารถทำให้เกิดพิษถ้าสูดดมหรือหายใจเอาละอองของสารพิษเข้าไปหรือผิวหนังสัมผัสกับสารพิษจำนวนมากและเป็นระยะเวลานาน
ลักษณะอาการ:
ถ้ากลืนสารพิษ:
- จะปวดแสบปวดร้อนในปาก
- ไอ หายใจขัด จุก แน่น
- ปวดในช่องท้องอย่างรุนแรง
- มีไข้ต่ำ ๆ กระวนกระวาย
- ความคิดสับสน
- ปวดกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย และกล้ามเนื้อกระตุก
- ความดันโลหิตต่ำ
- หายใจเร็วและผิวหนังเขียวคล้ำ
- หมดสติ
- ชัก
และอาจเสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมง
- ถ้าผู้ป่วยรอดชีวิตผ่านพ้นไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง จะมีอาการ
- ภาวะปอดบวมน้ำภายใน 12-24 ชั่วโมง หากสารดังกล่าวมีน้ำมันก็าดหรือน้ำมันเบนซินเป็นส่วนประกอบ
- ปัสสาวะมีสีคล้ำ เนื่องจากมีอาการของไตถูกทำลาย มีอาการอวัยวะตับถูกทำลาย
ถ้าสารพิษถูกผิวหนัง :
- ผิวหนังจะแดง และระคายเคือง
ถ้าสารพิษถูกผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง:
- จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย และกล้ามเนื้อกระตุก
- หมดสติ
ถ้าหายใจเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก:
- จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย และกล้ามเนื้อกระตุก หมดสติ
ถ้าสารพิษเข้าตา:
- จะมีอาการตาแดง และระคายเคือง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น :
- ถ้าสารพิษเข้าตา :
- ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที
- ถ้าสารพิษถูกผิวหนัง:
- เปลี่ยนเสื้อผ้าออกทันทีและทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่ถูกสารพิษด้วยน้ำสะอาดและฟอกด้วยสบู่และน้ำเย็นปริมาณมาก
ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ถ้าเป็นไปได้ควรฉีดด้วยน้ำไหลแรง เช่นน้ำประปา เป็นต้น
- ถ้าผู้ป่วยกลืนกินสารพิษ:
- นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีพร้อมภาชนะบรรจุสารพิษ
เอกสารอ้างอิง :
- Henry JA, Wiseman HM. Management of poisoning. WHO:Geneva;1997:120-3.
สารเคมีกำจัดวัชพืชโซเดียม คลอเรท
[Sodium Chlorate]
ประโยชน์:
- โซเดียม คลอเรท เป็นสารเคมีที่นำมาใช้ในการกำจัดวัชพืช (weed killer) ทำหัวไม้ขีดไฟ
(match head) และทำดอกไม้เพลิง (firework) ในอดีตโซเดียมคลอเรทเคยนำมาใช้เป็นน้ำยากลั้วคอ
แต่ในปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้แล้ว
สาเหตุการเกิดพิษ:
- โซเดียมคลอเรท เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีผลต่อสุขภาพ โดยสารพิษจะไปทำลายที่ตับและไต
นอกจากนี้สารพิษเมื่อสัมผัสผิวหนังและตาจะมีอาการระคายเคือง ถ้ากลืนกินเข้าไป
ประมาณ 2-3 ช้อนชา จะเสียชีวิต สารโซเดียมคลอเรทเป็นเกล็ดผงสีขาวลักษณะคล้ายน้ำตาลทราย
หรือเกลือ ทำให้อาจเข้าใจผิดถ้าเก็บโซเดียมคลอเรทไว้ในภาชนะและวางรวมไว้ใกล้อาหารหรือวางไว้ในครัว
ลักษณะอาการ:
ถ้าผู้ป่วยกลืนกินสารพิษ:
- จะปรากฎอาการดังนี้:-
- คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง และปวดในช่องท้อง
- หายใจลึก
- หมดสติ
- ชัก
- ผิวหนังและบริเวณเปลือกตาล่างเป็นสีน้ำเงิน
- ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะไม่ออก และมีอาการของไตถูกทำลาย
- ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง
ถ้าสารพิษสัมผัสผิวหนัง:
- มีอาการระคายเคืองบนผิวหนัง
- ผิวหนังแดง
- เกิดเป็นแผลไหม้บริเวณที่สัมผัสสารพิษ
ถ้าสารพิษเข้าตา:
- ผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองตา
- ต่อมาหนังตาจะแดง
- เกิดเป็น แผลผุพอง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น:
- ถ้าสารพิษเข้าตา:
- ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อยเป็นเวลา 15-20 นาที
- ถ้าสารพิษถูกผิวหนัง:
- ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันทีและทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่สัมผัสสารพิษด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำประปาอย่างน้อยเป็นเวลา
15 นาทีหากเป็นไปได้ควรฉีดด้วยน้ำไหลแรง เช่นน้ำประปา เป็นต้น
- หากผู้ป่วยกลืนกินสารพิษ:
- หรือมีอาการตาอักเสบเป็นแผลเนื่องจากถูกสารพิษหรือร่างกายสัมผัสสารพิษให้นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ได้รับสารพิษนั้นและนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
เอกสารอ้างอิง :
- Henry JA, Wiseman HM. Management of poisoning. WHO:Geneva;1997:145-7.
สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอท [Paraquat
Herbicide]
พาราควอท เป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืช
ตามปรกติจะจำหน่ายในรูปของเหลวที่มีความเข้มข้น 20% ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เจือจางก่อนนำไปใช้งาน
ในบางประเทศพาราควอทจะจัดจำหน่ายในลักษณะของรูปเม็ด (tablet) ใช้สำหรับกำจัดวัชพืชที่ขึ้นในบริเวณสวนผลไม้
ซึ่งจะมีปริมาณของสารพาราควอทเข้มข้น 2.5% และไดควอท 2.5% และต้องนำไปผสมกับน้ำก่อนจะนำไปใช้
สาเหตุการเกิดพิษ:
- สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอทเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ทำลายอวัยวะต่าง
ๆ ของร่างกายทำให้เกิดอาการไตอักเสบ ตับอักเสบ และปอดอักเสบ เป็นต้น สารพาราควอทเข้มข้น
20% มีคุณสมบัติในการกัดกร่อน (corrosive) ดังนั้นสารกำจัดวัชพืชพาราควอท จึงเป็นพิษอย่างร้ายแรงถ้าถูกกลืนกินเข้าไป
ขนาดปริมาณของพาราควอทเข้มข้น 20% จำนวน 1 อึก (one mouthful) อาจทำให้เสียชีวิตจากการที่ปอดถูกทำลายโดยเกิดพังผืด
(fibrosis) ขึ้นในเนื้อปอดภายในเวลา 2 สัปดาห์ ถ้ากลืนพาราควอทเข้าไปในปริมาณมากจะเสียชีวิตภายใน
12 ชั่วโมง ผิวหนังที่สัมผัสสารพาราควอทเป็นเวลานานและจำนวนมากจะเกิดอันตรายขึ้นได้โดยเฉพาะเด็ก
ๆ การหายใจเอาละอองของพาราควอทเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจเนื่องจากการฉีดพ่นกำจัดวัชพืชจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองในจมูก
ในลำคอ และมีเลือดกำเดาไหล
ลักษณะอาการ:
ถ้ากลืนกินสารพาราควอท:
- จะ อาเจียนทันทีและปวดแสบปวดร้อนในปากอย่างรุนแรง
- อุจจาระร่วงและมักมีเลือดปนออกมา
- ถ้ากลืนสารพิษเข้าไปเป็นจำนวนมาก จะมีผลต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอย่างรุนแรงซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน
2-3 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการ
- เซื่องซึม
- อ่อนเปลี้ย
- วิงเวียนและปวดศีรษะ
- มีไข้
- หมดสติ
- ไอ หายใจลำบาก
- ปอดบวมน้ำภายใน 2-3 ชั่วโมง ระยะนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 12 ชั่วโมง
- หากกลืนกินสารพาราควอทเข้าไปปริมาณน้อย จะมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นหลังจาก 24-48
ชั่วโมง อาการต่าง ๆ มีดังนี้:-
- เกิดแผลพุพองในปากและลำคอภายใน 24-48 ชั่วโมง
- บางรายเกิดแผลเป็นสีขาวในปากถึงคอ
- มีอาการปวดมากทำให้กลืนอาหารลำบากมาก ในปากจะเปียกอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถกลืนน้ำลายได้
- หายใจลำบากเนื่องจากเกิดพังผืดขึ้นในปอด
- ผู้ป่วยบางรายถ่ายปัสสาวะออกน้อยมากเนื่องจากไตเกิดการอักเสบอย่างรุนแรง
- บางรายมีอาการตัวเหลืองเนื่องจากจากอวัยวะของตับถูกทำลาย
ระยะนี้ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 2-3 สัปดาห์เนื่องจากภาวะการหายใจล้มเหลว
ถ้าสารพาราควอทสัมผัสผิวหนัง:
- สารพาราควอทเข้มข้น 20% เมื่อถูกผิวหนัง
- จะเกิดอาการเป็นผื่นแดง ต่อมาเกิดการอักเสบ
- ถ้าพาราควอทสัมผัสบริเวณนิ้วมือจะเกิดการอักเสบต่อมาเล็บจะแตกและหลุดออกได้
- ถ้าสารพาราควอทสัมผัสบริเวณผิวหนังบริเวณมากและนานหลายชั่วโมง จะมีอาการ หายใจขัดเนื่องจากระบบการหายใจถูกทำลาย
- บางรายถ่ายปัสสาวะออกน้อยมาก เนื่องจากระบบขับถ่ายถูกทำลาย
- บางรายมีอาการตัวเหลือง เนื่องจากอวัยวะของตับภายในถูกทำลาย
- ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากระบบการหายใจล้มเหลว เนื่องจากอวัยวะภายในของปอดเกิดพังผืด
(fibrosis)
ถ้าสารพาราควอทสัมผัสถูกนัยน์ตา:
- จะเกิดอาการอักเสบที่ดวงตาอย่างรุนแรง แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาการเจ็บปวดต่าง
ๆที่ตาก็จะหายเป็นปรกติ
- ถ้าหายใจเอาสารพาราควอทเข้าสู่ร่างกาย:อาจเกิดเนื่องจากการสูดดมระหว่างการพ่นสารพาราควอทในสวนหรือในไร่
สารพิษก็จะไปทำลายเนื้อเยื่อในจมูก ทำให้เลือดกำเดาไหลออกมาได้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น:
- ถ้าผู้ป่วยกลืนสารพิษ:
- ห้ามให้อาหารหรือสิ่งอื่นใดทางปากเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการเจ็บภายในปาก ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลืนอาหารได้
- ถ้าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บภายในปากอย่างรุนแรง ให้ใช้น้ำยาบ้วนปาก ถ้าพอกลืนอาหารได้ให้กินน้ำเย็นหรือไอศครีม
- ถ้าผู้ป่วยกลืน paraquat ไปแล้วนานกว่า 4 ชม. และผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี อย่าทำให้ผู้ป่วยอาเจียน
และถ้าสามารถกลืนเองได้ให้ผู้ป่วยกินดินสอพองผสมน้ำดื่มเนื่องจากดินสอพองจะดูดสารพิษไว้
- ถ้าสารพิษเข้าตา:
- ล้างตาด้วยน้ำสะอาดเป็นเวลา 15-20 นาที
- ถ้าสารพิษถูกผิวหนัง:
- ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม ่หากสารพิษถูกเสื้อผ้าและสัมผัสผิวหนัง ให้ล้างสารพิษออกบริเวณที่สัมผัสผิวหนัง
เช่น เล็บ ใบหน้า ผม แขน ลำตัว ด้วยน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
หรือใช้น้ำประปาทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสสารพิษ และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดพร้อมภาชนะบรรจุสารพิษ
เอกสารอ้างอิง:
- Henry JA, Wiseman HM. Management of poisoning. WHO:Geneva;1997:137-40.
ไดไนโตร-โอ-คลีซอล,ไดไนโตรฟีนอล,ไดโนเซปและเพนตะคลอโรฟีนอล[Dinitro-o-cresol
(DNOC), dinitrophenol, dinoseb and pentachlorophenol]
ประโยชน์:
- สารเคมีในกลุ่มนี้ มีคุณสมบัติในการกำจัดวัชพืช กำจัดแมลงและป้องกันโรคพืช
รวมทั้งยังใช้เพื่อการถนอมรักษาเนื้อไม้มิให้เน่าเปื่อยผุพังโดยเร็ว
สาเหตุการเกิดพิษ:
- สารในกลุ่มนี้หากเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการเร่งปฏิกิริยาทางเคมีขึ้น ทำให้ร่างกายมีการสะสมความร้อนจนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการพิษที่เรียกว่าเป็นลมแพ้ความร้อน
(heat stoke) หรือเกิดอาการอ่อนเพลียจากความร้อน (heat exhaustion) ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์จะส่งผลทำลายระบบอวัยวะต่าง
ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ ไต และระบบประสาท สารในกลุ่มนี้หากมีสารอื่นผสมอยู่ด้วยจะทำให้มีพิษเพิ่มขึ้น
เช่นน้ำมันก๊าด น้ำมันเบนซินหรือ เมทธานอลเป็นต้น สารเคมีชนิดฉีดพ่น ชนิดผง หรือไอควัน
ล้วนแล้วแต่มีพิษทั้งสิ้นเมื่อสูดดม หายใจหรือกลืนกินเข้าไป นอกจากนี้ถ้าสารพิษสัมผัสผิวหนังจะถูกดูดซึมผ่านชั้นของผิวหนังและจะมีพิษมากขึ้นถ้าผู้ป่วยมีไข้อยู่ก่อนแล้ว
ลักษณะอาการ:
- ถ้ากลืนสารพิษ ภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง จะปรากฏอาการดังนี้ :-
- ตัวเหลือง โดยเฉพาะตรงบริเวณฝ่ามือทั้งสองข้าง เล็บ ผมหงอกเหลือง แต่ตาจะเป็นสีขาว
ไม่กลายเป็นสีเหลือง (เฉพาะ dinitro-o-cresol และ dinoseb เท่านั้น)
- เหงื่อออกมาก และกระหายน้ำ
- คลื่นไส้ และอาเจียน
- มีไข้สูง
- เหนื่อยง่าย
- มีความวิตกกังวล กระวนกระวาย
- หงุดหงิดง่าย เวียนศีรษะ และจิตสับสน
- หายใจลึก และเร็ว
- ชีพจรเต้นเร็ว
- ปัสสาวะสีเหลืองอ่อน (dinitro-o-cresol และ dinoseb เท่านั้น)
- ปัสสาวะออกน้อยมาก เนื่องจากไตถูกทำลาย
- ชัก
- หมดสติ
- มีอาการน้ำท่วมปอด (lung oedema)
ถ้าสารพิษสัมผัสผิวหนัง:
- จะมีอาการของผื่นบนผิวหนัง เช่น ลมพิษ
- อาการอื่น ๆ จะมีอาการเช่นเดียวกับอาการที่เกิดขึ้นจากการกลืนกินสารพิษ
ถ้าสารพิษเข้าตา:
- จะมีอาการระคายเคืองตาอย่างรุนแรง
- ตาแดง และมีน้ำตาไหลออกมาก
ถ้าหายใจเอาสารพิษสู่ร่างกาย:
- จะระคายเคืองจมูก และลำคอ
- หายใจลำบาก และปวดบริเวณยอดอก
- อาการอื่น ๆ จะมีอาการเช่นเดียวกับอาการที่เกิดขึ้นจากการกลืนกินสารพิษ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น:
- ถ้าผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี พยายามให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
- ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง ให้เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ห้ามใช้ยา aspirin ระงับไข้ พยายามให้ผู้ป่วยได้นอนพักผ่อนในที่มีอากาศบริสุทธิ์
- ถ้าสารพิษเข้าตา:
- ให้เช็ดใบหน้าด้วยผ้านุ่มสะอาด เพื่อให้ผ้านุ่มซึมซับสารพิษออกจากบริเวณใบหน้า
แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อยเป็นเวลา 15-20 นาที
- ถ้าสารพิษสัมผัสผิวหนัง:
- ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที พยายามล้างบริเวณผิวหนังที่สัมผัสสารพิษ เช่น
นิ้วมือ เท้า ผม ด้วยสบู่และน้ำเย็นอย่างน้อยเป็นเวลานาน 15 นาที หรือใช้น้ำที่ไหลแรง
เช่นน้ำประปา
- ถ้าผู้ป่วยกลืนกินสารพิษ:
- นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลและพยายามอย่าให้ผู้ป่วยเดิน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยหมดกำลังอย่างรวดเร็ว
และอาการพิษอาจรุนแรงขึ้นอีก
เอกสารอ้างอิง:
- Henry JA, Wiseman HM. Management of poisoning. WHO:Geneva;1997:123-6.
(C) sipcn@mahidol.ac.th
<<<<<<<<<<กลับด้านบน<<<<<<<<<<